สบายดีหลวงพระบาง รีวิวเมืองมรดกโลกแบบฉบับCeline DragonZ



          หน้าหนาวใกล้เข้ามาแล้วหลายท่านคงมีแผนการเดินทางท่องเที่ยวไว้แล้ว แต่ถ้าหากใครยังไม่มีแผนการเดินทางล่ะก็ Celine DragonZ ขอนำเสนอเมืองมรดกโลกน่าเที่ยวไม่ใกล้ไม่ไกล สปป.ลาว บ้านพี่เมืองน้องเรานี่เอง นั่นก็คือ "หลวงพระบาง"






          การเดินทางไปหลวงพระบางก็มีหลายวิธีนะเออ ทั้งทางรถสำหรับใครที่ชอบแนวโหดๆ แต่สำหรับ Celine คงไม่ไหว เพราะ  Celine ออกจะบบอบบาง เลยเลือกเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งก็คือ Loas Airline ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติลาวนะคุณ ราคาก็ไม่เเพง สอบถามตารางบินเพิ่มเติมที่หมายเลขโทรศัพย์ออฟฟิศประจำประเทศไทย ถ.สีลม Tel.+66 2 236 9822

            ก่อนจะเดินทางเรามาทำความรู้จักกับหลวงพระบางพองามกันหน่อยนะจ๊ะ..
              ตำนานเมืองหลวงพระบาง
แขวงหลวงพระบาง เดิมเป็นเมืองหลวงของลาว ในสมัยแรกเข้ามาอยู่สุวรรณภูมิ ภายหลังลาวแบ่งแยกออกเป็นหลายภาค หลวงพระบางเป็นเมืองหลวงของลาวภาคเหนือ ตามรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้เวียงจันทน์เป็นเมืองหลวง ปัจจุบันเมืองหลวงพระบางยังเคยเป็นที่ประทับของกษัตริย์ ซึ่งประชาชนเรียกองค์ท่านว่า “ สมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตแห่งพระราชอาณาจักรลาว”
เมืองหลวงพระบาง ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายติดฝั่งแม่น้ำโขง มีแม่น้ำคานไหลลงบรรจบแม่น้ำโขงตอนเหนือเมือง ณ ปากน้ำตรงนั้นมีวัดโบราณของลาว คือ วัดเชียงทอง ตามคำบอกเล่าของชาวลาวว่า เดิมเป็นบ่อทองคำ และมีต้นไม้ทองใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ภายหลังโค่นลงเสีย และเอาดินถมบ่อทองสร้างวิหารครอบไว้ มีหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งใหญ่มากเรียกว่า “ ก้อนชวา” ตั้งอยู่ไร่นาข้าวเจ้า ซึ่งราษฎรสมัยก่อนต้องทำนาข้าวเจ้าไปถวายให้กษัตริย์เสวย ทางทิศใต้เมืองหลวงพระบางประมาณ 2 กิโลเมตร มีหมู่บ้านหนึ่งเรียกบ้านสังคะโลก หมู่บ้านนี้เดิมเรียกว่า “ เชียงดง” เพราะมีมีแม่น้ำดงผ่าน ทุกปีมีงานสรงน้ำพระพุทธรูป กษัตริย์ชาวลาวทุกองค์ต้องเสด็จไปร่วมพิธีที่นั่น หมู่บ้านเชียงดงหรือสังคะโลกเวลานี้มีประมาณ 120 หลังคาเรือน
นามต่างๆ เหล่านี้เกี่ยวข้องกับนามเมืองหลวงพระบางสมัยแรก เพราะประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารเมืองเรียกชื่อเมืองหลวงพระบางต่างๆ กัน คือ บางฉบับเรียกว่า “ เชียงคงเชียงทอง” บางฉบับว่า “ เชียงดงเชียงทอง” บางฉบับว่า ดินแดนลาว พวกขอมอยู่ก่อน พวกละว้าหรือข่าเข้ามาอยู่ภายหลัง บางฉบับว่าพวกขอมอยู่ที่หลัง พวกละว้าหรือลั๊วะอยู่ก่อน
ไทยลาวเข้ามาภายหลังทั้งสองพวก แล้วขับไล่พวกนี้ไปอยู่ตามป่าตามเขา บางท่านว่านามผู้ปกครองเมืองหรือนามบุคคลซึ่งกล่าวถึงสมัยแรกตั้งเมืองหลวงพระบางเป็นนามขอม บางท่านว่าเป็นนามของพวกละว้า
ผู้ที่ทราบภาษาลาว ได้อ่านพงศาวดารภาษาลาวออก สอบถามชาวเมืองประกอบแล้วจะทราบได้ว่า นามเหล่านี้เป็นนามภาษาลาวเป็นส่วนมาก ดังนาม “ อ้ายเจตไหเมียชื่อนางเกล้าใหญ่” ในหนังสือพงศาวดารฝ่ายไทยเขียนไว้ ที่ถูกควรเป็น “ อ้ายเจ็ดไห” ตามสำเนียงภาษาลาวและอักษรลาวเขียนไว้ “ นางเก๊าใหญ่” มากกว่า เพราะภาษาลาวไม่ใช้อักษร “ ล.” หรือ “ ร.” กล้ำ คำว่า “ เกล้า” ภาษาไทยแปลว่า “ หัว” หรือ “ ขมวดผม” แต่คำว่า “ เก๊า” เป็นภาษาลาว แปลได้หลายอย่าง จะยืนยันลงไปว่า นามกษัตริย์สมัยแรกเป็นขอมเพราะมีชื่อเป็นขอมทั้งนั้นยังนับไม่ได้
ตามพงศาวดารล้านช้างว่า โอรสขุนบรมองค์ที่ 1 นามขุนลอ ไปตั้งเมืองบริเวณเมืองชะวา (คือเมืองหลวงพระบาง) ชั้นแรกเรียกว่า บ้านเซ่า คำว่า “ เซ่า” ภาษาลาวแปลว่า “ หยุด” หรือ “ พัก” อาจจะหมายความว่าขุนลอ ยกไพร่พลลงมาเห็นทำเลตรงนั้นเหมาะจะสร้างเป็นเมืองหลวงจึงหยุดพัก ชั้นแรกยังไม่ได้ตั้งชื่อเมือง คงเรียกกันว่าบ้านเซ่า ไปพลางก่อน ต่อมาพลเมืองหนาแน่นเข้า เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น เชียงดง เชียงทอง
หากเชียงดงเป็นนามเดิมของหมู่บ้านสังคะโลก ซึ่งมีน้ำดงไหลผ่านและเชียงทองนั้นหมายถึงปากแม่น้ำคานตอนไหลบรรจบแม่น้ำโขง ติดตัวเมืองหลวงพระบางทางเหนือและเป็นที่ตั้งวัดเชียงทองเวลานี้ คำว่า “ เชียงดงเชียงทอง” คงหมายถึง 2 เมืองติดกัน ต่อมาเมื่อได้เชิญพระบางมาจากเวียงจันทน์ ไปประดิษฐาน ณ เมืองเชียงดงเชียงทองแล้วจึงเปลี่ยนนามเมืองเป็น “ เมืองหลวงพระบาง” มาจนทุกวันนี้
พงศาวดารลาว ได้เล่าถึงเรื่องเมืองหลวงพระบางสมัยแรกดังนี้
“ นับแต่ขุนบูลม ลงมาตั้งเมืองหลุ่มได้ 205 ปี ขุนลอใหญ่มาได้ 23 ปี ก็ล่วงมาตั้งเมืองชะวาที่เชียงดงเชียงทอง อันเจ้ารัสสี (ฤาษี) แฮกหมายใส่หลักคำใส่หลักเงินไว้ ที่ก้อนก่ายฟ้าหั้นแล ยามนั้น ข่ากันฮางปู่มัน พระยานาคอยู่น้ำท่าผาติ่งสบอูหั้น ขุนลอจึงมาเลวแป้ (รบชนะ) ไล่เขาเมืองภูเลาภูคา จึงเป็นข่าเก่าบัดนี้แล อันนั้นแม่นข่ากันฮางแล
ยังมีคนชุมหนึ่ง แม่เขาชื่อนางกางฮีผีเสื้อ พ่อเขานั้นเป็นคนเอากัน เป็นผัวเมียจึงมีลูก เขาใส่ชื่อลูกผู้พี่นั้น ชื่อขุนเค็ด ผู้น้องชื่อขุนคาน เขาอยากมาตั้งที่เชียงดงเชียงทอง บุญเขาน้อยมาตั้งบ่ได้ เขาจึงไปตั้งที่เชียงงวด อัน เฮาว่าขึงมวกบัดนี้แล บ่อนหั้นเปนบ้านเมืองเขา ขุนลอจุงไปเลวเอาแต่นั้นเขาก็เอารี้พลมาฮอดท้านขันหั้น ขุนลอก็ไปเลวได้ชนกัน ขุนลอก็เลวแป้ (รบชนะ) ไล่ไป ก็ได้ขุนเค็ดขุนคานที่เชียงงวด ทั้งพ่อทั้งลูกเอาไปจมน้ำเสียที่ดอนสิงหั้นแล เชื้อแถวขุนคานก็พ่ายหนีไปลี้ซ่อนอยู่หั้นแล แต่นั้นเจ้าขุนลอก็คืนมาฮอดเชียงดงเชียงทอง แล้วคนทั้งหลายจึงราชาภิเษกให้เป็นเจ้าแผ่นดินหั้นแล ”
ตามข้อความข้างบน แสดงว่าเมืองชะวานั้นมีชนชาติข่านามว่า กันฮาง ตั้งบ้านตั้งเมืองอยู่ก่อน เมื่อขุนลอโอรสของขุนบรมเข้ามาก็ขับไล่พวกข่ากันฮางไปอยู่ตามป่า ตามภูเขาภูคา เป็นทาสของชาวลาวตราบทุกวันนี้ ยังมีชนพวกหนึ่งมีหัวหน้า 2 พี่น้อง ผู้พี่ขุนเค็ด ผู้น้องชื่อขุนคาน เป็นโอรสของนาง กางฮี ผีเสื้อ มีบิดาเป็นมนุษย์ ตั้งบ้านเมืองอยู่เชียงงวด (ขี้มวกหรือขึงมวก) ขุนลอยกไปรบชนะขับไล่พ่ายไป เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองเมืองศรีสัตนาคนหุตอุตตมราชธานี โดยเอา “ งอนหมื่นหลวงเท่าสบโฮบเป็นหางนาค เอาสบคานและน้ำของก้ำ (เฉียง) เหนือเป็นหัวนาค จึงได้ชื่อว่าเมืองศรีสัตตนาคเพื่อดังนั้น อันชื่อเมืองล้านช้างนี้เอานิมิต จึงเรียกว่าเมืองล้านช้างเพื่ออั้นแล”
เมืองหลวงพระบาง จึงมีหลายชื่อ ชาวลาวปัจจุบันนิยมเรียกชื่อเดียวว่า เมืองหลวงพระบาง หมอมัคกิลวารีไปประเทศลาวเมื่อ พ.ศ. 2414 ได้เขียนไว้ว่า “ เมืองหลวงพระบางนี้มีลักษณะมั่นคงกว่าหัวเมืองไทยทั้งหลายที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ และเป็นเมืองต่างจากเมืองลาวทั้งปวง พลเมืองส่วนมากไม่ได้อยู่ในเมือง ทำเลการทำนาก็อยู่ห่างไกลเมืองออกไป ข้าวที่ส่งเป็นอาหารของชาวเมืองหลวงพระบางได้จากพวกชาวเขาที่ส่งส่วยเป็นภาษีประจำ เมืองนี้ตั้งอยู่บนฝั่งโขง มีเนินเขาอยู่ตรงกลางสูงประมาณ 200 ฟุต มีสถูปเจดีย์อยู่บนยอด ลำน้ำแม่คานไหลผ่านตัวเมืองออกไปบรรจบแม่น้ำโขง”
ตำนานเมืองหลวงพระบางตอนต้น เล่าว่า เดิมเมืองหลวงพระบางนั้นเป็นเมืองผีเสื้อหรือยักษ์ มีพญายักษ์ตนหนึ่งชื่อ นันทา เมียชื่อมหาเทวี ลูกลาวชื่อนางกางฮี (นางเมรี) เขาเจ้าผัวนางตายก่อนเมีย จึงไปเป็นพระยาอินทปัตเกิดลูกชื่อ เจ้าพุทธเสน (พระรถ) มาเอานาง กางฮี เป็นเมีย มีลูกชายผู้หนึ่งชื่อ ท้าวพิสี มีลูกหญิงผู้หนึ่งชื่อนางพิไสย
ผู้เฒ่าชาวเมืองหลวงพระบางเล่าให้ฟังว่า บิดาของนางกางฮีจำแลงกายไปท่องเที่ยว ไปพบหนุ่มน้อยเจ้าพุทธเสนเข้า อยากให้ธิดาของตนลิ้มรสเนื้อมนุษย์ จึงลวงให้เจ้าพุทธเสนไปบ้านเมืองของตน และเขียนหนังสือถึงนางกางฮีว่า “ ถ้าไปถึงกลางวันให้กินกลางวัน ถ้าถึงกลางคืนจงกินกลางคืน” ปิดผนึกมอบให้เจ้าพุทธเสนเดินทางไปหาลูกลาวของตน เจ้าพุทธเสนเอาจดหมายผูกติดเชือกแขวนคอแล้วเดินทางรอนแรมขึ้นเขาข้ามห้วยลำธาน อดๆ อยากๆ ครั้นเดินทางมาถึงริมฝั่งโขง ณ ภูเขาลูกหนึ่งเรียกว่ ผาตัดแก้ (เวลานี้เรียกกับแก้ อยู่ใต้หลวงพระบาง) ก็นอนหลับไป เทพารักษ์รักษาป่าถิ่นนั้นมาเห็นจดหมายผูกแขวนไว้ที่คอของเจ้าพุทธเสน ก็สงสัยจึงลอบเปิดอ่านดู ทราบความแล้วเกิดสงสารจะตายเปล่าไม่เข้าที จึงเขียนข้อความให้ใหม่ว่า “ ไปถึงกลางวันหรือกลางคืนให้เอาเฮ็ดผัว” ครั้นเจ้าพุทธเสนตื่นขึ้นมาเดินทางเข้าต่อไปถึงสวนแถน (เวลานี้อยู่ใต้เมือง) ณ สวนนี้มีมะม่วงมะนาวพูดได้ ชาวพื้นเมืองเรียก มะม่วงรู้หาว มะนาวรู้โห่ ได้พบปะกับนาง กางฮี มอบหนังสือให้ ได้เสียเป็นผัวเมียกัน ครอบราชสมบัติเมืองหลวงพระบาง จนสิ้นพระชนม์ กลายเป็นภูเขา 2 ลูก อยู่ฝั่งเชียงแมนซึ่งตรงกันข้ามกับหลวงพระบาง เรียกภูท้าว ภูนาง ปัจจุบันนี้สุสานที่ฝังศพกษัตริย์ของเมืองลาวอยู่ใต้ภูท้าว เรียกป่าช้าหนองเงิน ภูนางนั้นเป็นรูปผู้หญิงนอน มีศีรษะ คอ หน้าอก และมีสระอยู่ 3 สระ ชาวพื้นเมืองนับถือกันมากไม่มีผู้ใดกล้าไปตัดฟันต้นไม้หรือขุดดิน
ามแม่น้ำโขงนับจากใต้เมืองห้วยทรายลงมายังเมืองหลวงพระบาง และใต้หลวงพระบางลงไปสุดแดนของแขวงนี้ มีเกาะแก่งอันตรายร้ายแรงมากมาย แต่ละแก่งมีชื่อและประวัตินิยายอันน่ากลัว เช่น ผาย่าเฒ่าใต้ปากทา มีก้อนหินอยู่ริมน้ำเป็นรูปหญิงแก่สีขาว เล่าว่า แม่เฒ่าชาวข่ามุจะไปเมืองหลวงพระบาง ล่องเรืองมาเรือล่มจมน้ำตาย กลายเป็นหินรูปหินย่าเฒ่าอยู่ตรงนั้นตราบจนบัดนี้ 

มรดกโลกหลวงพระบาง
 
ในระหว่างปี พ.ศ. 2536-2537 องค์การยูเนสโกเข้ามาสำรวจหลวงพระบางตามข้อเสนอให้เมืองนี้ได้เป็นมรดกโลกด้วยชัยภูมิที่ค่อนข้างโดดเดี่ยวของเมืองหลวงพระบาง และด้วยการที่ฝรั่งเศสย้ายศูนย์กลางการบริหารปกครองไปอยู่ที่เวียงจันทน์ ยังผลให้ราชธานีเก่าแก่อย่างหลวงพระบางคงบรรยากาศแบบโบราณเอาไว้ได้จนกระทั่งทุกวันนี้ แม้ในยุคสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อ หลวงพระบางก็ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ แต่การคุกคาม ที่แท้จริงนั้นเริ่มขึ้นในทศวรรษ 1990 เมื่อลาวเริ่มเปิดประเทศต้อนรับโลกภายนอกและการพัฒนาความเจริญอีกครั้ง โชดดีที่องค์การสหประชาชาติให้ความสนใจกับปัญหานี้และส่งคณะผู้แทนเข้ามาทำการสำรวจ รายงานที่ได้รับทำให้ยูเนสโกประกาศยกย่องให้หลวงพระบางเป็น “ เมืองที่ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้อย่างดีที่สุดในเอเชียอาคเนย์” (The best preserved city in South-East Asia)
บริเวณเมืองเก่าหลวงพระบางระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำคานบนพื้นที่ 2 ตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมวัดเชียงทอง หอพิพิธภัณฑ์ วัดใหม่สุวันนะพูมาราม และพระธาตุพูสี ได้รับการ “ ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก” ในการประชุมคณะกรรมกรมรดกโลกครั้งที่ 19 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2538 ด้วยเงินช่วยเหลือในการบูรณปฏิสังขรณ์และบำรุงรักษาโบราณสถานจากองค์การสหประชาชาติ เป็นเครื่องประกันอนาคตของหลวงพระบางได้เป็นอย่างดี
เป้าหมายหลักของยูเนสโกคือ การคงบรรยากาศแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของหลวงพระบาง ตลอดจนอนุรักษ์สถาปัตยกรรมทั้งของลาวและฝรั่งเศส รวมถึงประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ ไว้ ในปี ค.ศ. 1998 ยูเนสโกได้ว่าจ้างสถาปนิกฝรั่งเศสสองคนกับสถาปนิกลาวอีกห้าคน ให้เข้ามาปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ปัจจุบันพวกเขาได้คัดสิ่งปลูกสร้างที่เป็นโบราณสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ออกมาได้มากถึง 700 แห่ง ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนแบ่งแยกหมวดหมู่และทำเรื่องร้องขอการคุ้มครองจากทางการ นอกจากนี้ ยังห้ามการปลูกตึกสูงหรือการพัฒนาความเจริญใดๆ อันจะสร้างความเสียหายให้กับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมของเมืองหลวงพระบางอีกด้วย 
            หลังจากได้ทราบประวัติเมืองหลวงพระบางมาแล้ว คราวนี้Celine DragonZ จะแนะนำสถานที่สำคัญๆของเมืองหลวงพระบางกัน..
  


           1.วัดเชียงทอง(Wat Xieng Thong)
วัดเชียงทองถือเป็นเพชรยอดมงกุฎของเมืองหลวงพระบางเลยก็ว่าได้ ถ้าใครมาหลวงพระบางแล้วไม่ได้มาที่นี่ ถือว่าคุณมาไม่ถึงหลวงพระบางจ๊ะ!!
      ภายในวัดอายุเก่าแก่นี้จะมีโบสถ์(ภาษาลาวเรียกว่า "สิม"นะคุณ) โบสถ์หรือ สิม จะเป็นสถาปัตยกรรมเอกลักษณ์เฉพาะตัวเลยนะคุณ ลืมไปวัดนี้พระมหากษัตริย์ ทรงสร้างไว้นะคุณ สังเกตุง่ายๆคือ วัดไหนที่พระมหากษัตริย์สร้าง ยอดตรงช่อฟ้าจะมี17ยอด เชียวล่ะ.. ส่วนวัดที่สามัญชนสร้างจะมีช่อฟ้า 1-7ยอดเท่านั้นเอง
พระประธานใน สิม วัดเชียงทอง
2.พระธาตุภูสี



พระธาตุภูสี เป็นพระธาตุเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง การจะขึ้นไปนมัสการนั้นจะต้องเดินขึ้นเขาไป แต่เขาจะมีบันไดคอนกรีตให้คุณอยู่นะจ๊ะ ก่อนจะขึ้นต้องซื้อตั๋วข้างล่างก่อน ราคาจำไม่ค่อยได้ตกประมาณ 40บาทไทยจ๊ะ ขั้นบันไดก็ไม่เยอะหรอก เกือบ400ขั้น แอร้ย.. แต่พอขึ้นไปถึงยอดพระธาตุแล้วท่านจะพบกับความงามแบบตะลึงพรึงพรืดจนหายเหนื่อยเชียว.....ที่ฟินที่สุดก็คงจะเป็นตอนพลบค่ำ ตรงทางลงบันไดเจาจะใช้ตะเกียงน้ำมันจุดวางเรียงรายตลอดทาง โรแมนติกมั้กๆ....   แถมตอนเย็นๆจะมีหนุ่มน้อยหน้าละอ่อนผิวขาวๆชาวลาวออกมารวมตัวกันคอยส่งยิ้มหวานๆให้นักท่องเที่ยวอีก คริๆ....                                                                 
3.ถ้ำติ่ง หรือ ถ้ำปากอู

ถ้ำติ่ง เป็นถ้ำที่มีตำนานเก่าแก่ ส่วนรายละเอียดคงต้องไปค้นหาใน google กันนะจ๊ะ อิอิ ถ้ำติ่งจะอยู่ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบางเกือบ 100กม.ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปากอู จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ถ้ำปากอู ในถ้ำนี้จะเป็นที่เก็บรวบรวมพระพุทธรูปต่างๆที่ชาวบ้านนำมาบูชาเป็นพันๆองค์เลยทีเดียว...                               4.น้ำตกตาดกวางสี.            
             
      "ตาด"ภาษาลาว แปลว่า น้ำตก นั่นเอง น้ำตก ตาดกวางสี เป็นน้ำตกสีเขียวมรกตสวยงามร่มรื่นมาก
 สถานที่ท่องเที่ยวในหลวงพระบางมีมากมายรอให้คุณมาสัมผัสเอง บรรยายเท่าไหร่ก็คงไม่หมด  ที่เหลือก็อยู่ที่ตัวคุณแล้ว ลืมบอกไปว่าถ้าใครชอบสถานเริงรมย์ยามค่ำคืน บอกได้เลยว่าคุณจะผิดหวังมาก เพราะเมืองหลวงพระบางจะเข้มงวดแหล่งเริงรมย์มากๆ ร้านอาหารจะปิดบริการทันทีก่อนถึง 4ทุ่ม เพราะจะมีตำรวจเมืองคอยมากวดขัน ถ้าร้านไหนฝ่าฝืนจะโดนปรับทันทีเป็นเงิน 5,000 บาทไทย แต่Celine DragonZ  ก็ใช่ว่าจะไม่เสาะแสวงหาให้เพื่อนๆเสียทีเดียว อิอิ สถานจุดนัดพบของชาวเกย์จะมีอยู่ร้านหนึ่ง ชื่อ Loa Loa Garden เป็นร้านอาหารมีดนตรีให้ฟังบรรยากาศดีมาก หนุ่มๆหล่อๆเพียบ แต่คุณต้องอาศรัย(ความไว)และความสวยด้วย เพราะที่นี่จะปิดก่อน4ทุ่ม ถ้าคุณมัวนั่งสวยตลาดจะวายเอาได้นะเออ 555..                                             
บรรยากาศร้าน Loa Loa Garden

ทั้งหมดทั้งปวงที่Celineกล่าวมานี้ให้นำเสนอ10วันก็คงไม่หมด... คุณต้องไปสัมผัสด้วยตัวคุณเองล่ะนะ    เพราะฉะนั้นขอจบรีวิวแต่เพียงเท่านี้ ขอบคีณที่ติดตามอ่านรีวิวตั้งแต่ต้นจนจบ...



        




         

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พลโทหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา "หม่อมนุ้ย"

Panflute คืออะไร

ว่าด้วยกำลังพลสำรอง ไม่เว้นแม้กระทั่งเพศที่3 นะตะเอง แอร๊ยย!!