ทำไม คนอเมริกันถึงไม่ชอบ Donald Trump??



ที่มา :เปิดโลกวันอาทิตย์ : 'นรกแตก' หาก โดนัลด์ ทรัมป์ ครองทำเนียบขาว : โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

                      อีกครั้งหนึ่งที่มะกันชนต้องตั้งคำถามซ้ำซากว่า ถ้าแดนดินถิ่นอินทรีผยองอเมริกามีประธานาธิบดีชื่อโดนัลด์ ทรัมป์ แล้วจะเป็นเช่นใด จะเกิดสภาพของมวลมารลำพอง หรือ "เดอะรีเทิร์น ออฟ เดอะ บิ๊กบราเธอร์” เหมือนในยุคของ เจ.เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอคนแรกที่สร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวขึ้นหรือไม่
                      ถึงแม้ว่ามะกันชนจำนวนไม่ใช่น้อยอยากจะกลายร่างเป็นนกอีมูเอาหัวซุกดิน เพราะไม่อยากรับรู้ว่าสภาพที่อาจเกิดขึ้นหากทรัมป์ขึ้นมาครองทำเนียบขาว แต่ความจริงก็คงเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ เมื่อผลการเลือกตั้งใน 10 มลรัฐ หรือที่เรียกกันว่า "ซูเปอร์ทิวส์เดย์” เมื่อต้นเดือนมีนาคม ที่เพิ่งผ่านมาสดๆ ร้อนๆ บ่งบอกว่า คงรั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ในกระแสทรัมป์ฟีเวอร์ได้อีกต่อไป ไม่ว่ากลุ่มขวาจัดภายในพรรคตราช้างรีพับลิกันจะพยายามรณรงค์ขัดขวางเต็มที่มากแค่ไหนก็ตาม
                      แต่ดูเหมือนยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ กระแสทรัมป์ฟีเวอร์มีแต่แรงขึ้นทุกขณะ เนื่องจากชาวรีพับลิกันบางคนที่เคยคิดจะออกเสียงให้ผู้สมัครคนอื่นอย่างวุฒิสมาชิกมาร์โก รูบิโอ จากฟลอริดา เริ่มเปลี่ยนใจหันไปเชียร์ทรัมป์เมื่อเห็นว่ารูบิโอไม่มีทางพลิกล็อกกลับมาชนะได้
                      จากกระแสทรัมป์ฟีเวอร์ดังกล่าว ทำให้บีบีซีต้องตั้งคำถามว่า ทรัมป์จะไปถึงดวงดาวได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่สมความปรารถนาจริงหรือ อย่างไรก็ดี คำตอบที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองหลายคนชี้ว่า อย่างเก่งทรัมป์ไปได้ไกลแค่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคที่จะส่งชิงทำเนียบขาว แล้วก็สะดุดเพียงแค่นั้น เพราะที่สุดของที่สุดแล้ว มะกันชนก็รู้ว่าทรัมป์เป็นเพียงแค่สีสันที่โดดเด่นของการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถนำอนาคตของประเทศมาไว้ในมือของทรัมป์ได้ ดังนั้นคะแนนอาจจะเทไปที่นางฮิลลารี คลินตัน ซึ่งขณะนี้กำลังมีคะแนนนำในพรรคตราลาเดโมแครต ซึ่งอาจก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวได้อย่างสบายๆ
                      “ผมไม่อยากแม้แต่จะคิดไปไกลถึงเรื่องนี้...โอ พระเจ้า” จอห์น เอช. ซูนูนุ อดีตหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาวในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ บุช ผู้พ่อ ให้ความเห็นว่า “ผมไม่อยากจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่มีการพูดถึงเรื่องนี้”
                      ขณะที่วุฒิสมาชิกรูบิโอให้คำตอบทีเล่นทีจริงระหว่างให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ซีบีเอสเพียงแค่ว่า "ก็คงจะเกิดกลียุคขึ้นกระมัง” และไม่ยอมตอบคำถามว่า นโยบายสำคัญๆ อะไรที่โดนใจมะกันชนจนเกิดกระแสคลั่งไคล้ทรัมป์ขึ้นมา
                      อันที่จริงไม่มีใครรู้จริงๆ ว่า นโยบายที่แท้จริงของทรัมป์ต่อปัญหาต่างๆโดยเฉพาะปัญหาในประเทศนั้นเป็นเช่นใด รู้แต่เพียงว่า ขยันสร้างศัตรูวันละทิศ แม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโกหรือพันธมิตรในยุโรปและเอเชีย การเดินหน้าต่อต้านการรับผู้อพยพจากตะวันออกกลางอย่างซีเรียด้วยวาจาเผ็ดร้อนถึงพริกถึงขิงถึงขั้นจะห้ามชาวมุสลิมเข้าประเทศหรือจะขู่ส่งกลับผู้อพยพผิดกฎหมายทุกคน แม้กระทั่งในเว็บไซต์หาเสียงของทรัมป์ก็แทบไม่พูดถึงจุดยืนในปัญหาต่างๆ ให้ชัดเจน ส่วนใหญ่พูดกว้างๆ โดยขโมยลิขสิทธิ์ความคิดของทั้งซ้ายและขวาแล้วนำมาผสมปนเปจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร หรือในบางปัญหาทรัมป์จงใจหลีกเลี่ยงไม่แตะปัญหานั้น หรือในบางกรณีก็กล้ายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่รู้เรื่องอะไรมากนัก ดังกรณีที่เกิดศึกแย่งชิงสิทธิในการให้ฝูงปศุสัตว์เล็มหญ้าในในทุ่งหญ้าสาธารณะได้หรือไม่ เป็นต้น
                      กระนั้นก็ดี ตลอดช่วง 8 เดือนเต็มของการลุยหาเสียง ระหว่างนั้นก็มีการโต้วาทีสด การให้สัมภาษณ์และการปราศรัยรวมแล้ว 10 ครั้ง อัครมหาเศรษฐีพันล้านแห่งนิวยอร์กก็ได้วางนโยบายหลัก 10 ประการ รวมทั้งให้ความเห็นไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า หากตนเองก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแล้ว จะทำงานไปในแนวทางไหน ที่เห็นชัดที่สุดก็คือ ทรัมป์ไม่ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในจุดยืนอันแน่วแน่ของกลุ่มหัวเก่าในพรรคตราช้างที่ต้องการลดขนาดของข้าราชการลง แต่จะไม่แตะในเรื่องงบประมาณด้านประกันสุขภาพ เพราะเห็นด้วยกับนโยบายที่รัฐจะเข้าไปดูแลเรื่องการประกันสุขภาพ
                      เมื่อมีคนถามระหว่างการโต้วาทีสดเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้งบประมาณสมดุล ทรัมป์กลับตอบแบบเล่นลิ้นว่า ก็ต้องกำจัด "การสูญเปล่า การทุจริตและการใช้อำนาจในทางมิชอบ” พร้อมกับยกตัวอย่างแค่ 2 ตัวอย่างที่ตัวเองต้องการตัดลดงบประมาณลง นั่นก็คือ สำนักมาตรฐานการศึกษาหลักทั่วไป และสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยย้ำว่าควรเป็นหน้าที่ของแต่ละรัฐที่จะต้องจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานนี้
                      อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชาวพรรคตราช้างหรืออีกนัยหนึ่งมะกันชนเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ ความไร้เดียงสาในด้านการบริหารประเทศของทรัมป์ ซึ่งคิดว่าประเทศก็เปรียบเป็นเสมือนบริษัทบริษัทหนึ่งที่ซีอีโอมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจต่างๆ เฉกเดียวกับประธานาธิบดีที่จะต้องมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจ ถ้อยแถลงทุกๆ ครั้งของทรัมป์ล้วนแต่ชี้ให้เห็นว่า ในฐานะประธานาธิบดี เจ้าตัวก็พร้อมจะเข้าไปแก้ปัญหาต่างๆ เองด้วยความเชื่อมั่นและด้วยศักยภาพในฐานะนักเจรจาต่อรอง เสมือนหนึ่งไม่เห็นหัวของรัฐมนตรีหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงหรือไม่สนใจว่าอยู่ในกรอบนโยบายของพรรคหรือไม่
                      ดังคราวที่ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์เอบีซีในเรื่องประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ทรัมป์ตอบในลักษณะคุยโวว่า "ผมประสบความสำเร็จยิ่งยวดในฐานะนักประสานสิบทิศและนักเจรจาต่อรอง ซึ่งผมต้องทำหน้าที่นี้มานานหลายปีแล้ว ผมรู้จักดูคน และคิดว่าเราไปด้วยดี เพื่อประโยชน์ของประเทศแล้ว ผมไปด้วยดีกับปูติน”
                      เหตุนี้จึงไม่สงสัยแต่อย่างใดว่า เหตุใดปูตินจึงประกาศสนับสนุนทรัมป์ พร้อมกับชมว่าเป็นผู้สมัครที่มี “ความฉลาด และเป็นผู้นำอย่างแท้จริง”  แอนดรูว์ คาร์ด ซึ่งทำงานในทำเนียบขาวกับประธานาธิบดี 3 คนที่มาจากพรรคตราช้าง รวมไปถึงอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในฐานะหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาว ถึงกับส่ายหน้าขณะพยายามทำความเข้าใจว่า “แม้กระทั่งประธานาธิบดีในยุคนี้ที่มีอำนาจมากที่สุดก็จะรู้ตัวเกือบในทันทีทันใดว่ามีข้อจำกัดมากเพียงใดในการบริหารประเทศ จะว่าไปซีอีโอมีอำนาจเด็ดขาดในบริษัทมากกว่าอำนาจของประธานาธิบดีในคณะรัฐมนตรีเสียอีก” คาร์ดตบท้ายว่า ”เมื่อคุณขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี คุณจะต้องไม่เป็นเผด็จการ”
                      คำตอบนี้ไม่ได้หมายความว่าประธานาธิบดีไม่มีอำนาจ นโยบายต่างๆของทรัมป์ที่มีข้อถกเถียงมากมายจะต้องดำเนินการโดยผู้บริหารหรือรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ดังกรณีที่ทรัมป์ประกาศจะห้ามชาวต่างชาติที่เป็นมุสลิมเข้าประเทศอย่างน้อยเป็นการชั่วคราว อ้างว่าประธานาธิบดีมีอำนาจกว้างขวางคลุมไปถึงนโยบายการเข้าเมือง โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวเนื่องกับปัญหาความมั่นคงของประเทศ
                      “ทรัมป์คงจะไม่มีปัญหาอะไร จะทำอะไรก็ได้ผ่านผู้บริหารที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งรวมไปถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” วิลเลียม กัลส์ตัน แห่งสถาบันบรูคลิน ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งเคยทำงานที่ทำเนียบขาวในยุคประธานาธิบดีบิล คลินตัน ให้ความเห็นก่อนจะชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นว่า "ทรัมป์คงมีปัญหายุ่งยากแน่หากต้องการความร่วมมือจากรัฐสภา”
                      ความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ นอกเหนือจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาจากพรรคเดโมแครตแล้ว แม้กระทั่งสมาชิกรัฐสภาจากพรรครีพับลิกันเองก็ใช่ว่าจะสนับสนุนทรัมป์ด้วยเช่นกัน โทษฐานทำตัวเป็นสมาชิกพรรคนอกคอกมาตลอด ดังนั้น หากทรัมป์จะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะสร้างกำแพงตลอดแนวชายแดนที่ติดกับเม็กซิโกหรือจะให้ทหารล้อมจับและเนรเทศคนต่างด้าวราว 11 ล้านคน ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทรัมป์จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนในเรื่องของงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ ไม่ต้องพูดไกลไปถึงกรณีที่ผู้นำเม็กซิโกยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่ยอมจ่ายค่าสร้างกำแพงแม้แต่เซนต์เดียวตามแรงกดดันของทรัมป์
                      ในส่วนของนโยบายต่างประเทศ ประธานาธิบดีทรัมป์จะต้องเผชิญกับชุดของปัญหาที่แตกต่างออกไป ทรัมป์พูดเสมอเรื่องไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่สหรัฐเที่ยวไปค้ำประกันความมั่นคงของประเทศพันธมิตรอย่างยุโรปและญี่ปุ่น บอกว่า "วันชื่นคืนสุขในอดีตได้ผ่านพ้นไปแล้ว” แต่ถ้าหากทรัมป์ต้องการยุติพันธกรณีเหล่านี้ รวมไปถึงการถอนทหารออกจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้และเยอรมนี ทรัมป์จะต้องต่อรองให้รัฐสภาลงมติยอมให้ยกเลิกสนธิสัญญาต่างๆ ที่กำหนดกรอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2493 รวมไปถึงสนธิสัญญาการป้องกันระหว่างสหรัฐกับ
                      แน่นอน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้สหรัฐสามารถประหยัดงบประมาณแม้แต่น้อย เพราะทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเยอรมนี ต่างเป็นคนออกค่าใช้จ่ายในการคงทหารอเมริกันไว้ในประเทศนั้นๆ หรือในบางกรณีสหรัฐจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณบางส่วนเพื่อทำกิจกรรมบางอย่างในญี่ปุ่น แต่ก็เป็นงบประมาณน้อยนิดด้วยซ้ำไปเมื่อเทียบกับการส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำการในเขตชนบทในรัฐเท็กซัส

                      ผู้เชี่ยวชาญปัญหาการเมืองในแดนอินทรีหลายคนชี้ว่า ประธานาธิบดีทุกคนล้วนประสบกับความจริงเหล่านี้ด้วยตัวเอง จนทำให้คะแนนนิยมมีแต่ลดลงตามลำดับ เนื่องจากไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้ระหว่างหาเสียงได้ แต่ความจริงนี้ ดูเหมือนจะมีผลกระทบโดยตรงกับทรัมป์มากกว่าคนอื่น ในฐานะที่ชอบหาเสียงด้วยการให้สัญญาในสิ่งต่างๆ ซึ่งน้อยคนนักจะคิดว่าทำได้เพียงเพื่อจะดึงดูดใจคนฟังเท่านั้น
                      ความไร้เดียงสาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทรัมป์ ซึ่งมองข้ามการถ่วงดุลอำนาจกับรัฐสภา ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการต่างประเทศกว่า 70 คน ต้องร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกฉบับหนึ่งประณามวิสัยทัศน์ของทรัมป์เรื่องอเมริกาจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งว่า เป็นนโยบายที่รับไม่ได้เป็นที่สุด เพราะเล็งเห็นแล้วว่ามีแต่ถดถอยหลัง โดยเฉพาะวาทกรรมต่อต้านมุสลิม ซึ่งยิ่งบั่นทอนความสามารถในการตอบโต้อิสลามเคร่งจารีต ด้วยการแยกตัวออกจากการเป็นหุ้นส่วนกับโลกอิสลาม
                      อีกปมปัญหาหนึ่งที่ทรัมป์ผูกขึ้นมาเองระหว่างหาเสียงก็คือ กรณีขู่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของโรงงานสหรัฐที่ย้ายไปตั้งฐานผลิตในต่างประเทศถึง 35 เปอร์เซ็นต์ เพื่อตอบโต้กรณีทำให้ชาวอเมริกันในประเทศต้องตกงานนั้น ผู้เชี่ยวชาญการเมืองหลายคนชี้ว่า คำมั่นสัญญาของทรัมป์นี้ไปไกลเกินกว่าอำนาจของประธานาธิบดีจะทำได้ หรือว่าทรัมป์ไม่รู้จริงๆ ว่าประธานาธิบดีไม่มีอำนาจในการกำหนดภาษี เหนืออื่นใด การตอบโต้ด้วยมาตรการทางภาษีจะใช้เฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์พิเศษภายใต้เงื่อนไขซับซ้อนตามที่ระบุไว้ในกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ทั้งนี้จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วจะไม่ผ่านร่างกฎหมายตอบโต้บริษัทใดบริษัทหนึ่งที่ย้ายโรงงานไปต่างประเทศ
                      “ในความเป็นจริงก็คือ ไม่มีการสร้างกำแพงที่ชายแดน เม็กซิโกก็ไม่ยอมจ่ายเงินอะไรทั้งสิ้น บริษัทแอปเปิ้ลก็ไม่ได้ผลิตไอโฟนในสหรัฐ" ร็อบ สตัตซ์แมน ที่ปรึกษาการเมืองในซาคราเมนโตและเป็นที่ปรึกษาให้แก่อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ อดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เซีย ซึ่งสนับสนุนสมาชิกวุฒิสภารูบิโอ ให้ความเห็น 
                      “ที่ผมอยากรู้ก็คือ ทรัมป์อาจจะสามารถทุ่มเงินจ้างคนที่เก่งมากๆ มาเป็นที่ปรึกษา จากนั้นเขาก็คงพบว่าตัวเองต้องเสียเวลาโต้เถียงกับที่ปรึกษาเหล่านั้นว่า ทำไมตัวเองถึงทำเรื่องโน้นไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ได้ นอกเหนือจากต้องคอยประคับประคองอำนาจทางการเมืองไม่ให้เสียสูญไปจากความอวดเก่งอวดรู้ของตัวเอง”
                      มะกันชนบางคนถึงกับตอบว่า "นรกแตกแน่ ถ้าสหรัฐมีประธานาธิบดีชื่อโดนัลด์ ทรัมป์”

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พลโทหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา "หม่อมนุ้ย"

Panflute คืออะไร

ว่าด้วยกำลังพลสำรอง ไม่เว้นแม้กระทั่งเพศที่3 นะตะเอง แอร๊ยย!!